นักบรรพชีวินวิทยาชาวจีนเผยข้อมูลการค้นพบสิ่งมีชีวิตตระกูลเทอโรเซอร์ที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งถูกจัดอยู่ในวงศ์อะนูรอคนาธิเด (Anurognathidae) ถือเป็นสัตว์เลื้อยคลานบินได้สกุลใหม่และชนิดใหม่ชื่อว่า “ไซโนมาครอปส์ บอนดีไอ” (Sinomacrops bondei) มีชีวิตอยู่ในช่วงยุคกลาง-ยุคปลายจูราสสิก หรือประมาณ 160 ล้านปีก่อน โดยพวกมันมีจุดเด่นคือดวงตากลมโต และมีใบหน้าคล้ายตัวละคร “พอร์จ” (Porgs) ที่ปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Star Wars : The Last Jedi ยังไงยังงั้น
โดยการค้นพบ “ไซโนมาครอปส์ บอนดีไอ” เกิดขึ้นที่มณฑลหูเป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งพวกมันมีลักษณะที่แตกต่างจากเทอโรเซอร์ทั่วไป คือมันมีขนาดที่เล็กมาก โดยมีปีกยาวไม่เกิน 90 เซนติเมตร (โดยส่วนใหญ่สัตว์ในตระกูลเทอโรเซอร์จะมีขนาดใหญ่) อีกทั้งความแตกต่างของขากรรไกรและกะโหลกที่มีลักษณะสั้นกลม มีเบ้าตาขนาดใหญ่สอดรับกับดวงตากลมโต
นอกจากนี้ ซากฟอสซิลที่สมบูรณ์เผยให้เห็นว่าพวกมันเป็นสัตว์เลือดอุ่น มีขนที่ลักษณะเหมือนแปรง (Pycnofibers) อยู่บริเวณหัวและลำตัว และยังพบอีกว่าพวกมันมีลักษณะของฟันบนสามซี่แรกที่ชิดติดกัน ทั้งยังมีกระดูกหน้าแข้งที่ยาวเป็นสองเท่าของกระดูกต้นขา ซึ่งลักษณะทางกายภาพทั้งหมดนี้ นักบรรพชีวินวิทยาจึงสันนิษฐานว่า พวกมันน่าจะอาศัยในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าและมีพฤติกรรมการหาอารหารแบบบินโฉบเพื่อกินแมลงเป็นอาหาร
โดย เชา ชวง (Zhao Chuang) นักบรรพชีวินวิทยาชาวจีน กล่าวว่า “การค้นพบฟอสซิลของเทอโรเซอร์วงศ์อะนูรอคนาธิเด นับเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นการค้นพบครั้งนี้จึงนำไปสู่การตีความเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งมีความสำคัญต่อการจัดกลุ่มของเทอโรเซอร์ และยังบ่งบอกถึงความหลากหลายทางสัณฐานวิทยาด้วยเช่นกัน”
อย่างไรก็ตาม ฟอสซิลของไซโนมาครอปส์ บอนดีไอ ที่มีสภาพดีมากนั้นถูกพบทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน โดยพื้นที่ดังกล่าวถูกเรียกว่า “เยียนเหลียว ไบโอตา” (Yanliao Biota) เป็นบริเวณที่มักพบฟอสซิลในสภาพสมบูรณ์ อันเนื่องมาจากสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใต้เถ้าภูเขาไฟซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ปราศจากอากาศ จึงช่วยในการอนุรักษ์สภาพฟอสซิลไว้ได้นั่นเอง โดยปัจจุบันฟอสซิลของไซโนมาครอปส์ บอนดีไอ ถูกเก็บไว้ ณ พิพิธภัณฑ์บรรพชีวินวิทยาจินโจวทางตะวันตกตอนกลางของจีน
เพิ่มเติม – เทอโรเซอร์ (Pterosaur) แม้จะอยู่ในยุคเดียวกับไดโนเสาร์ แต่พวกมันถูกจัดให้เป็นสัตว์เลื้อยคลานบินได้ ถือเป็นคนละกลุ่มกับไดโนเสาร์ โดยทั่วไปจะมีขนาดใหญ่มาก ซึ่งสายพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดนั้นชื่อว่า เคตซัลโคแอตลัส นอร์โทรพี (Quetzalcoatlus northropi) มีปีกที่กว้างใหญ่เทียบเท่ากับเครื่องบินรบ F-16 หรือประมาณ 10.5 เมตร หนัก 200 กิโลกรัม และสูงพอ ๆ กับยีราฟในปัจจุบันเลยทีเดียว
ด้วยเหตุนี้ พวกมันจึงกลายเป็นที่ถกเถียงในหมู่นักวิจัยว่า แท้จริงแล้วพวกมันบินได้หรือไม่ เพราะแม้อวัยวะดังกล่าวจะมีรูปร่างคล้ายปีกก็จริง แต่ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าสามารถพยุงมันขึ้นไปบนอากาศได้ จนกระทั่งมีงานวิจัยที่เปิดเผยว่าพวกมันบินได้จริง เนื่องจากพวกมันมีรยางค์ที่แข็งแรงสำหรับการบินขึ้น มีโครงกระดูกที่เบามากและปีกที่ผ่านการปรับเปลี่ยนผ่านวิวัฒนาการมาโดยเฉพาะ ตลอดจนถุงลม กล้ามเนื้อ เส้นใย และสมอง ที่วิวัฒนาการมาเป็นพิเศษเพื่อทำการบินโดยเฉพาะ ทั้งนี้ ซากฟอสซิลของพวกมันนั้นถูกค้บพบอยู่ทั่วโลก อันเนื่องมาจาก ความหลากหลายของสายพันธุ์ที่มีมากกว่า 200 ชนิด