“เมฆมัมมาทัส” (Mammatus Cloud) คือกลุ่มเมฆที่มีลักษณะสุดแปลกคล้ายกับก้อนสำลีจำนวนมาก (บ้างก็ว่าเหมือนเต้านม) ราวกับอยู่ในโลกการ์ตูน แต่รู้หรือไม่ว่า ยิ่งพวกมันสวยงามเท่าไหร่ สภาพอากาศยิ่งรุนแรงและอันตรายมากขึ้นเท่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่แมมาทัสก่อตัว มันจะมาพร้อมกับพายุฝนฟ้าคะนองเสมอ
ซึ่งที่เป็นเช่นนั้น เพราะเมฆชนิดนี้ก่อตัวขึ้นจากฐานเมฆคิวมูโลนิมบัสขนาดใหญ่ (เมฆพายุฝน) ซึ่งลักษณะที่คล้ายก้อนสำลีนี้เกิดจาก : มวลอากาศที่ไม่เสถียร – ทำให้เมฆคิวมูโลนิมบัสคลื่อนตัวต่ำลงอย่างรวดเร็ว – และเมื่อปะทะกับอากาศพื้นดินที่อยู่ใต้เมฆ – เกิดกระแสลมต้านย้อนกลับ – จึงทำให้ฐานของมันมีลักษณะนวล ๆ อย่างที่เห็น
สาเหตุที่มันอันตราย เพราะพวกมันเปรียบเสมือนผู้ส่งสารที่บอกว่าพายุลูกใหญ่กำลังจะมา ซึ่งภายในก้อนแมมมาทัสแต่ละลูกประกอบด้วยน้ำแข็ง ของเหลว และลมต้านที่รุนแรง ส่งผลต่อการนำเครื่องบินขึ้นหรือลงจอด เพราะด้วยความแรงลมภายในแมมมาทัสที่มหาศาลจะทำให้เครื่องบินสูญเสียการควบคุมได้ โดยแต่ละลูกมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-3 กิโลเมตร กระจุกรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่กระจายตัวหลายสิบกิโลเมตร อาจอยู่ได้นาน 1-4 ชั่วโมง
แล้วถ้าเงยหน้าขึ้นฟ้าแล้วเจอเมฆแมมมาทัสก่อตัว เราจะรับมือกับมันอย่างไร ? ตอบ : รีบกลับเข้าที่พัก ปิดประตูหน้าต่างทุกบานให้สนิทและอยู่ให้ห่างหน้าต่างไว้เพราะลมพายุอาจรุนแรงจนทำให้กระจกแตกได้ เตรียมน้ำ อาหารและไฟฉายให้พร้อม ชาร์จแบตมือถือให้เต็ม เตรียมเบอร์ฉุกเฉินไว้ และติดตามฟังพยากรณ์อย่างใกล้ชิด เพราะสภาพอากาศสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา (ปรากฏการณ์เมฆแมมมาทัสอาจไม่ได้พบเจอในประเทศไทย แต่จะพบได้บ่อยในประเทศที่เกิดภัยพิบัติพายุบ่อย ๆ เช่น ญี่ปุ่น จีน อเมริกา ฯลฯ)
อย่างไรก็ตาม เมฆแมมมาทัสนั้นไม่ได้เป็นสัญญาณอันตรายเสมอไป เพราะมันยังสามารถเกิดขึ้นได้หลังพายุฝนฟ้าคะนองผ่านไปแล้วได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเมื่อพายุพัดผ่านไปแต่ตะกอนของไอน้ำจะยังคงอยู่ – ทำให้อากาศโดยรอบเกิดการอิ่มตัวและจับตัวกันเป็นก้อน – มีน้ำหนักมากขึ้น – จนทิ้งตัวต่ำลง – และเมื่อปะทะกับอากาศบนพื้นดิน – ทำให้เกิดกระแสลมต้านย้อนกลับ – เกิดเป็นเมฆแมมาทัสได้นั่นเอง
Fact – ปรากฏการณ์ “ท้องฟ้าสีชมพู” (Atmospheric Extinction) คือ ปรากฏการณ์การกระเจิงของแสง (Scaterring) ที่เกิดจากไอน้ำที่สะสมบนชั้นบรรยากาศเป็นจำนวนมากและโมเลกุลของน้ำที่อัดแน่น จนทำให้แสงที่ส่องลงมาเกิดการกระเจิงจนกลายเป็น “สีชมพู” โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น ก่อนพายุฮากิบิสจะเข้า 1 วัน (พายุที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2019)