เคยสงสัยกันบ้างมั้ย ว่าทำไมเราต้องใช้ “เลือดม้า” ในการผลิตเซรุ่มแก้พิษงู ? เลือดของมันมีความพิเศษกว่าสัตว์ทั่วไปหรอ ? หรือมันเกิดมาเพื่อทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ ? วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟัง เพราะนี่คือบทความ Hybrid จะฟังก็ได้ จะอ่านก็ดี (แต่ถ้าอ่านแล้วจะรู้ลึกกว่านะ)
อัลแบร์ กัลเมตต์ จึงนำแนวคิดของ หลุยส์ ปาสเตอร์ มาใช้ในการสร้างเซรุ่ม โดยเขาได้สกัดพิษงูมาเจือจาง แล้วก็เลือกทดลองกับสัตว์ต่าง ๆ ทั้งกระต่าย หนู งูด้วยกันเอง จนกระทั่งทดลองกับม้าแล้วปรากฏว่ามันรอด เขาจึงเจาะเลือดของม้าออกมาฉีดให้กับชาวบ้านที่ถูกงูกัด และแน่นอนว่าเขาสามารถช่วยชีวิตชาวบ้านคนนั้นไว้ได้ครับ
สำหรับคำว่าเซรุ่ม (Serum – บางคนเรียกซีรัม) เกิดจากการสกัดเอาเฉพาะส่วนของน้ำเลือด (Plasma) ออกมาจากเลือดสด ๆ อีกที แต่ไม่ใช่ว่าน้ำเลือดเพียว ๆ จะใช้เป็นเซรุ่มได้นะครับ เพราะยังมีอีกขั้นตอนหนึ่งก็คือ ต้องทำการสกัดเอาสารกันเลือดแข็งตัว (Clotting factor) ออกก่อนจึงจะได้เซรุ่มที่สมบูรณ์พร้อมใช้งานครับ
เอาล่ะกลับมาที่คำถามหลักของเรา แล้วทำไมม้าจึงรอดตายจากการทดลองฉีดพิษงูในครั้งนั้น เลือดของมันมีอะไรพิเศษกว่าสัตว์ทั่วไปงั้นหรือ ? แท้จริงแล้วม้าก็สามารถตายได้ด้วยพิษงูนี่แหละครับ และเลือดของมันก็ไม่ได้มีความพิเศษกว่าสัตว์ทั่วไปเลย แต่เพราะว่าม้าเป็นสัตว์ที่มีร่างกายขนาดใหญ่ การกระจายของพิษในเลือดม้าจะใช้ระยะเวลานานพอสมควรจึงจะไปถึงอวัยวะสำคัญ
อีกทั้งในกระบวนการแรกของการผลิตเซรุ่มนั้น นักวิทยาศาสตร์จะนำพิษงูมาเจือจางเสียก่อน เพื่อให้มีความเข้มข้นที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายมากเกินต้านทาน จากนั้นจึงเติมสารชนิดหนึ่งเรียกว่า แอดจูแวนท์ (Adjuvant) คือสารที่ช่วยเสริมให้ร่างกายของม้าตรวจจับพิษงูได้อย่างง่ายขึ้น เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการสร้าง แอนติบอดี (Antibody – สารชนิดหนึ่งที่ระบบภูมิคุ้มกันสร้างขึ้น เพื่อทำลายสิ่งแปลกปลอม) ของม้านั่นเองครับ
ถัดมาคือเรื่องของความคุ้มค่า ตามสูตรการคำนวณ ระบุว่าในร่างกายของม้าแต่ละตัวจะมีเลือดประมาณ 55 ลิตร ในขณะที่ร่างกายของมนุษย์ผู้ใหญ่มีเลือดประมาณ 6 ลิตร ด้วยปริมาณเลือดที่เยอะขนาดนี้ การผลิตเซรุ่มในม้าจึงคุ้มค่ากว่าการผลิตในสัตว์ขนาดเล็กนั่นเอง
แต่ถ้าบอกว่าม้าเหมือนสัตว์ทั่วไปเลยก็ไม่ใช่ เพราะสัตว์อย่างม้าก็ถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ที่มีร่างกายแข็งแรง มีความทนทานสูงมาก เพราะมันมีอัตราการเผาผลาญพลังงานสูง รวมถึงยังมีระบบภูมิคุ้มกันที่ไวต่อสิ่งแปลกปลอมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นี่จึงเป็นอีกหนึ่งข้อพิจารณาในการนำม้ามาใช้ในการผลิตเซรุ่มแก้พิษงูครับ
อย่างไรก็ตาม จริง ๆ แล้วม้าไม่ได้เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่สามารถสร้างเซรุ่มแก้พิษงูได้นะ เพราะเลือดของกระต่าย, หนูตะเภา หรือแกะก็สามารถใช้ผลิตเซรุ่มได้เช่นกัน แต่ปัจจัยหนึ่งคือเรื่องของความคุ้มค่า ลองนึกดูว่าเราต้องใช้กระต่ายกี่ตัว จึงจะได้เซรุ่มเท่ากับมา 1 ตัว ?
ทั้งนี้ แกะ (Sheep) ก็เป็นสัตว์อีกชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในการผลิตเซรุ่มเช่นกัน แถมยังมีข้อดีกว่าม้าตรงที่เซรุ่มจากแกะ จะกระตุ้นอาการแพ้ได้น้อยกว่าเซรุ่มจากม้า แล้วทำไมเราไม่เลือกใช้แกะล่ะในเมื่อมันดีกว่า ?
นั่นก็เพราะ แกะส่วนมากมักป่วยเป็นโรควัวบ้า (Mad cow disease – ทำให้เกิดภาวะสมองพรุนเป็นฟองน้ำ) และการตรวจสอบเจ้าโรคนี้ก็ยุ่งยากมาก นักวิทยศาสตร์จึงตัดความยุ่งยากออกไป และหันกลับมาใช้ม้านี่แหละดีที่สุด
สรุป – ม้ามีร่างกายที่แข็งแรงกว่าสัตว์ทั่วไปจริง เพราะร่างกายตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอมได้เร็วกว่า อีกทั้งพวกมันยังตัวใหญ่มาก จึงทำให้พิษงูที่ถูกเจือจางแล้ว ใช้เวลานานมากกว่าจะแพร่ไปยังอวัยวะสำคัญ จึงทำให้ม้ามีเวลาสร้างแอนติบอดี้ที่สามารถต่อกรกับพิษของงูชนิดนั้น ๆ ได้ อีกทั้งพวกมันยังมีเลือดเยอะมาก จึงทำให้คุ้มค่าในแง่ของจำนวนการผลิตในธุรกิจนั่นเองครับ
Fact – ในกระบวนการผลิตเซรุ่ม หลังจากฉีดพิษเข้าไปในตัวม้าแล้ว จะต้องรออีกประมาณ 8-10 สัปดาห์เพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันของม้าสร้างแอนติบอดีขึ้นมา จากนั้นนักวิทยาศาสตร์จะเจาะเลือดของม้าออกมาประมาณ 3-6 ลิตร ผ่านทางหลอดเลือดดำที่คอ ก่อนที่จะนำเลือดเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการสกัดเป็นเซรุ่มในลำดับถัดไป
Fact 2 – สตีฟ ลุดวิน ชายวัย 53 ปี เริ่มฉีดพิษงูใส่ตัวเองมาตั้งแต่เขาอายุ 21 ปี เพื่อพยายามสร้างเซรุ่มพิษงู ที่ราคาถูกและปลอดภัยให้กับคนยากไร้ที่บังเอิญถูกงูกัด โดยเขาบอกว่า เขาเคยคำนวนจำนวนผิดพลาดจนเกือบตาย 3 ครั้ง แต่ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เขาไม่เคยป่วยเลยแม้แต่ครั้งเดียว