ถูกถ่ายไว้เมื่อปี ค.ศ.1899 ณ เมืองบานยูลส์ ซูร์ แมร์ ทางตอนใต้ของประเทศฝรั่งเศส ที่ระดับความลึก 50 เมตร โดย หลุยส์ บูตอง (Louis Boutan) นักชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยปารีส ซึ่งคนที่สวมชุดดำน้ำในภาพนี้คือ เอมิล ราโควิตซา (เพื่อนนักวิชาการ หนึ่งในผู้ร่วมทีมคนสำคัญของโปรเจคนี้)
บูตองเป็นคนที่หลงใหลทุกสิ่งเกี่ยวกับโลกใต้ทะเล เพราะเขารู้สึกว่ามันน่าค้นหาไปหมด จึงทำให้เขาเริ่มศึกษามหาสมุทรอย่างจริงจังเมื่อปี 1886 บ่อยครั้งเขาพบเจอสิ่งแปลก ๆ ที่น่าสนใจ แต่ทุกครั้งที่นำมาเล่าก็ไม่ค่อยมีใครเชื่อเพราะทุกคนต่างหาว่าเขาขี้โม้-มโนโลกใต้ทะเลเอาเอง ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตั้งใจที่จะถ่ายรูปใต้น้ำให้ได้ ซึ่งเทคโนโลยีในสมัยนั้นถือเป็นเรื่องท้าทายอย่างมาก
ซึ่งเรื่องที่ยากที่สุดคือ “แสงแฟลช” เพราะแม้จะทำให้กล้องใช้งานใต้น้ำได้แล้ว แต่เนื่องจากใต้น้ำนั้นมืดมาก ทำให้การสร้างแสงสว่างใต้น้ำนั้นเป็นสิ่งที่ยากสุด ๆ นั่นเอง บูตองต้องอดทนกับการถูกตราหน้าว่าเป็นคนขี้โม้นานหลายปี จนกระทั่งปี 1893 หลังได้รับความช่วยเหลือจากศูนย์วิจัย Arago Laboratories ที่พี่ชายของตนทำงานอยู่ กล้องใต้น้ำที่ยิงแฟลชได้ก็สำเร็จในที่สุด
โดยบูตอง ระบุว่า “พวกเราสร้างแสงแฟลชโดยใช้ตะเกียงวางไว้ด้านบนถังออกซิเจน จากนั้นจึงใช้โหลแก้วครอบตะเกียงอีก 1 ชั้น (เพื่อรักษาออกซิเจนไม่ให้รั่วไหล) และหากต้องการใช้แฟลชเมื่อใด-ก็เพียงแค่เป่าท่อที่บรรจุแมกนิเซียมให้ไปโดนเปลวไฟ-เพียงเท่านี้ก็เกิดแสงสว่างวาบ-เป็นแฟลชใช้งานจริงได้แล้ว”
ทั้งนี้ ป้ายที่เพื่อนนักดำน้ำของบูตองถืออยู่นั้น อ่านว่า “Photographie Sous Marine” (การถ่ายภาพใต้น้ำ) ซึ่งความสำเร็จของเขาได้ปฏิวัติวงการกล้องถ่ายภาพไปตลอดกาล และได้กลายเป็นต้นแบบของกล้องถ่ายภาพใต้น้ำในปัจจุบันครับ
กล้องออบสคิวรา (Camera Obscura) หรือกล้องถ่ายภาพตัวแรกของโลก เกิดขึ้นในช่วงปี ค.ศ.1550 (แต่ภาพที่ถ่ายออกมานั้นก็ปรากฏอยู่เพียงชั่วครู่ก่อนจะหายไป แต่ก็ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี (คำว่า “camera” มีความหมายว่า “ห้อง” ส่วน “Obscura” มีความหมายว่า”ความมืด”)
เพราะต่อมาในปี ค.ศ.1814 โจเซฟ นีเซฟอร์เนียฟ ได้ทดลองนำสารซิลเวอร์คอไรด์มาเคลือบลงบนกระดาษเพื่อให้ภาพที่ฉายมานั้นอยู่ติดคงทน ซึ่งมีภาพปรากฏขึ้นบนกระดาษจริง ๆ แต่ก็อยู่ได้นานขึ้นอีกนิดแล้วก็หายไปอีก จนกระทั่งปี ค.ศ.1837 หลุยส์ ดาแกร์ ได้ถ่ายภาพที่คงอยู่ถาวรได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดยใช้กระบวนการชื่อยากว่า ดาแกโรไทพ์ (Daguerreotype) ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการมีภาพถ่ายสุดแสนจะง่ายดายเช่นในทุกวันนี้ครับ